วันเสาร์ที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

19

จะทำประกันชั้น 1 อยากได้ทุนประกันสูงๆ ยินดีจ่ายเบี้ยแพงขึ้น แต่ทำไมบริษัทประกันไม่ให้ทำ


ทุนประกันที่เหมาะสมคือ ประมาณ 80% ของราคารถ ณ ปัจจุบัน หรืออาจยืดหยุ่นได้ถึง 90% ของราคารถ แต่บริษัทประกันมักจะไม่รับทำทุนประกันเต็มจำนวน 100% ตามราคารถ สาเหตุเนื่องจาก
  • ต้องเผื่อค่าเสื่อมของรถที่จะเกิดขึ้นระหว่างปี
  • ต้องการให้ผู้เอาประกันมีความรับผิดชอบกับรถของตนบ้างบางส่วน เพื่อจะได้ช่วยดูแลรักษารถตามสมควร
  • ไม่ให้เป็นช่องในการหาประโยชน์จากการทำประกันโดยมิชอบ

ประกันภัยรถยนต์

18

สลักหลังกรมธรรม์ คืออะไร ต้องขอเมื่อไหร่ และมีวิธีขออย่างไร


สลักหลังกรมธรรม์ คือ เอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ที่บริษัทประกันออกให้กรณีที่ข้อมูลในกรมธรรม์จัดทำออกมาไม่ถูกต้อง หรือผู้เอาประกันต้องการเปลี่ยนแปลงข้อมูลในกรมธรรม์ เช่น ทะเบียนรถผิด เลขตัวถังไม่ถูกต้อง ชื่อผู้เอาประกันสะกดผิด แก้ไขวันเริ่มคุ้มครอง เปลี่ยนชื่อผู้รับประโยชน์ เป็นต้น 

ผู้เอาประกันสามารถขอสลักหลังโดยติดต่อผ่านตัวแทน/นายหน้า ในการแจ้งขอสลักหลังควรส่งเอกสารที่สามารถยืนยันข้อมูลที่ต้องการแก้ไขมาประกอบ เช่น หากเลขตัวถังผิด ควรส่งเอกสารรายการจดทะเบียนเพื่อเป็นการแสดงเลขตัวถังที่ถูกต้อง 

ที่ PrakunRod.com เราตรวจสอบกรมธรรม์ทุกฉบับก่อนจัดส่งให้ลูกค้า หากตรวจเจอข้อผิดพลาด เราจะแจ้งขอสลักหลังไปยังบริษัทประกันเพื่อแก้ไขข้อมูลให้ท่านอัตโนมัติ

ประกันภัยรถยนต์

17

ต้องการยกเลิก กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ทำอย่างไร


หากมีเหตุที่ต้องการยกเลิกกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ 
- ขายรถต่อแต่ผู้ซื้อไม่ต้องการใช้กรมธรรม์เดิม 
- ต้องการเปลี่ยนประเภทความคุ้มครองเช่น จาก ประกันรถยนต์ 2+ เป็นประกันรถยนต์ชั้น 1 เป็นต้น

สามารถแจ้งต่อบริษัทผู้รับประกันภัยได้ โดยจะมีอัตราการเวนคืนกรมธรรม์แสดงอยู่ในคู่มือที่ส่งไปพร้อมกับกรมธรรม์นั้นๆ
อัตราการเวนคืนจะไม่ได้ลดเป็นสัดส่วนโดยตรงในระยะเวลา 1 ปี เพราะบริษัทประกันมีต้นทุนในการออกกรมธรรม์ เช่น ค่าอากร ค่าภาษี ค่าพนักงาน เป็นต้น

เอกสารที่ต้องใช้ในการเวนคืนกรมธรรม์
โดยทั่วไปต้องส่งกรมธรรม์ตัวจริง สำเนาบัตรประชาชน และหน้าสมุดธนาคารที่ต้องการรับเงินคืน
อาจต้องส่งหนังสือแสดงความประสงค์ หรือเอกสารอื่นๆ เพิ่มเติมแล้วแต่เงื่อนไขของบริษัทรับประกัน 

ท่านสามารถติดต่อตัวแทน/นายหน้า หรือบริษัทรับประกันโดยตรง เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม 


ประกันภัยรถยนต์

16

ระยะเวลาในการจัดทำกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์


ระยะเวลาในการจัดทำ พ.ร.บ. 
ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2556 คปภ. บังคับให้ส่งข้อมูลลูกค้าที่ทำ พ.ร.บ. ในระบบออนไลน์ แบบ Real Time ดังนั้น กรมธรรม์พ.ร.บ. จะต้องจัดทำให้เสร็จในวันเริ่มคุ้มครอง เพราะไม่สามารถคีย์ข้อมูลย้อนหลังได้โดยทั่วไป พ.ร.บ. ที่ตัวแทน/ นายหน้าสามารถคีย์ข้อมูลเองได้ จะจัดทำเสร็จในวันทำการเดียวกันกับที่ได้รับข้อมูลคำสั่งซื้อและชำระเบี้ยประกันแล้ว 

ระยะเวลาในการจัดทำ กรมธรรม์ภาคสมัครใจ
โดยทั่วไปกรมธรรม์ชั้น 1 ใช้เวลาจัดทำประมาณ 15-30 วัน ส่วนกรมธรรม์ประเภทอื่นจะเร็วกว่า

ปัจจัยที่ทำให้ระยะเวลาในการจัดทำกรมธรรม์ แตกต่างกัน
1. นายหน้าออกกรมธรรม์เอง หรือบริษัทรับประกันเป็นผู้ออกกรมธรรม์ ซึ่งกรมธรรม์ที่นายหน้าออกเองได้ที่สำนักงาน จะใช้เวลาไม่เกิน 1 วันทำการ ส่วนกรมธรรม์ที่บริษัทประกันเป็นผู้ออกจะช้ากว่าเพราะต้องรวมเวลาในการจัดส่งมาที่นายหน้าด้วย

2. กรมธรรม์ที่มีการขออนุมัติพิเศษ จะใช้เวลานานกว่าปกติ เช่น มีการขอเปลี่ยนนายหน้าที่ดูแล, การเพิ่มทุนประกันกรณีพิเศษ, การขออนุโลมส่งเอกสารไม่ครบ 

3. การออกกรมธรรม์ผิด หากมีการตรวจสอบก่อนส่งมอบให้ลูกค้า และพบว่ามีการออกกรมธรรม์ผิด จะต้องมีการขอสลักหลังแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูล เช่น ชื่อ สกุล สะกดไม่ถูกต้อง, ทุนประกันไม่ตรงกับใบคำขอ, เลขตังถังผิดหรือตกหล่น

4. การรอตรวจสภาพรถ สำหรับประกันภัยชั้น 1 

5. การรอเช็คประวัติดีสำหรับรถที่ต้องการโอนย้ายประวัติดี ซึ่งบริษัทรับประกันภัยบางแห่ง อาจรอเช็คประวัติดี 7 วันก่อนประกันเดิมหมดอายุ ทำให้การจัดทำกรมธรรม์ล่าช้าออกไป

ประกันภัยรถยนต์

15

รถอายุเกิน 7 ปี ไม่สามารถทำประกันภัยรถยนต์ประเภท 1 จะสามารถทำประกันรถยนต์ประเภทใดได้บ้าง


โดยทั่วไป บริษัทประกันภัยจะรับประกันภัยรถยนต์ ประเภท 1 สำหรับรถอายุไม่เกิน 7 ปี แต่มีบางบริษัทรับถึง 9 ปี 
หรือกรณีมีการต่ออายุต่อเนื่องกับบริษัทเดิม อาจพิจารณาอนุโลมรับเกิน 10 ปีได้ พิจารณาจากประวัติการเคลมด้วย

หากอายุรถเกิน 7 ปีแล้วไม่สามารถทำประเภท 1 ได้ จะพิจารณาเลือกประกันประเภทใดแทน

พิจารณาจากความคุ้มครอง มากไปน้อย แนะนำเป็นประเภท 2+ และ 3+ ตามลำดับ
-ประกันประเภท 2+ คุ้มครองตัวรถคันเอาประกันในกรณีชนกับยานพาหนะทางบก และกรณีสูญหาย ไฟไหม้ด้วย
-ประกันประเภท 3+ คุ้มครองตัวรถคันเอาประกันในกรณีชนกับยานพาหนะทางบก ไม่คุ้มครองกรณีสูญหาย ไฟไหม้

หมายเหตุ การนับอายุรถ ให้นับ 1 ตั้งแต่ปีแรกที่ออกรถจากศูนย์บริการ เช่น ออกรถปี ค.ศ. 2009 ให้นับดังนี้
ปี 2009 นับอายุได้ 1 ปี
ปี 2010 นับอายุได้ 2 ปี
....
ปี 2013 นับอายุได้ 5 ปี เป็นต้น

ประกันภัยรถยนต์

14

ติดแก๊ส LPG หรือ NGV แล้วต้องแจ้งประกันหรือไม่


กรณีประกันภัยชั้น 1
ทำประกันและแจ้งการติดตั้งแก๊สแล้ว
-เมื่อเกิดเหตุวินาศภัยขึ้นจะได้รับความคุ้มครองตัวรถรวมถึงถังแก๊สด้วย ไม่ว่าเป็นฝ่ายผิดหรือฝ่ายถูก ประกันจะจัดการส่วนนี้ให้

ทำประกันแต่ไม่มีการแจ้งการติดตั้งแก๊ส
-หากเกิดเหตุเป็นฝ่ายถูกสามารถเรียกร้องกับคู่กรณีชดใช้ค่าเสียหายต่อถังแก๊สได้ด้วยตัวเอง บริษัทรับประกันจะไม่สามารถช่วยเรียกร้องได้
-หากเป็นฝ่ายผิดต้องรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อชุดอุปกรณ์แก๊สเอง

ติดแก๊สแล้วยังไม่แจ้งประกัน ต่อมาเกิดไฟไหม้รถเสียหาย ได้รับความคุ้มครองอย่างไร ?
-ประกันจะจ่ายสินไหม ตามความคุ้มครองในตารางกรมธรรม์ส่วนของ จำนวนเงินเอาประกันรถยนต์สูญหาย ไฟไหม้ (ความคุ้มครองนี้มีเฉพาะประกันชั้น 1 และ 2+) แต่จะไม่จ่ายความเสียหาย ชุดอุปกรณ์แก๊ส เพราะถือว่าเป็นชุดแต่งเพิ่มเติม

หากมีการติดตั้งแก๊ส LPG หรือ NGV ควรแจ้งให้บริษัทประกันภัยคุ้มครองเพิ่มเติม
สามารถแจ้งผ่านตัวแทน นายหน้าหรือ โดยตรงไปที่บริษัทรับประกันภัยก็ได้ เอกสารที่ใช้คือ 
-รายการจดทะเบียนที่แจ้งเปลี่ยนแปลงประเภทเชื้อเพลิงแล้ว 
-ใบเสร็จค่าติดตั้งชุดอุปกรณ์แก๊ส 

ประกันภัยรถยนต์

13

หลักการ cash before cover คืออะไร


ตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 สำหรับประกันภัยรถยนต์
ผู้เอาประกันภัยจะต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยก่อน หรือตรงกับวันที่กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มคุ้มครอง

รายละเอียดแบ่งเป็นกรณี บุคคลธรรมดา และนิติบุคคล

บุคคลธรรมดา ต้องจ่ายเบี้ยประกันภัยก่อนหรือตรงกับวันที่กรมธรรม์ประกันภัยเริ่มคุ้มครอง แต่กรณีบริษัทประกันภัยส่งกรมธรรม์ให้แก่ผู้เอาประกันภัยแล้ว ถึงแม้ยังไม่ชำระเบี้ยประกัน ให้ถือว่ากรมธรรม์มีผลคุ้มครอง

นิติบุคคล ต้องชำระเบี้ยภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับ
กรณีผู้เอาประกันภัยที่เป็นนิติบุคคล ยังไม่ชำระเบี้ยประกันภัย
1. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่กรมธรรม์เริ่มคุ้มครอง ยังให้ความคุ้มครองตามเงื่อนไข
2. เกินกำหนด 15 วันนับแต่วันที่กรมธรรม์เริ่มคุ้มครอง กรมธรรม์สิ้นผลบังคับทันทีถือว่าไม่ประสงค์จะเอาประกันอีกต่อไป

ประกันภัยรถยนต์

วันศุกร์ที่ 14 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

12

ประกันภัยรถยนต์

     PrakunRod (อ่านว่า "ประกันรถ") มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้การซื้อประกันภัยรถยนต์กลายเป็นเรื่องง่าย โดยได้พัฒนาระบบออนไลน์ และนำเทคโนโลยีต่างๆ มาประยุกต์ใช้อย่างต่อเนื่อง ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ทุกเวลา ตลอด 24 ชั่วโมงตามแต่ความสะดวก และสั่งซื้อกรมธรรม์ที่ต้องการได้ จากคอมพิวเตอร์ที่บ้าน โต๊ะทำงาน หรือจากทุกที่ทั่วประเทศ เป้าหมายของเราที่คิดอยู่ตลอด คือ เพื่อให้ลูกค้าได้รับประสบการณ์ที่ดีในการซื้อประกัน ประหยัดทั้งเงินและเวลา ในคราวเดียวกัน

     PrakunRod เป็นทีมนายหน้าเล็กๆ ซึ่งได้รับความกรุณาและการตอบรับจากลูกค้าในระดับดีพอประมาณตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา ในด้านระเบียบข้อบังคับ เจ้าหน้าที่ทีมงาน PrakunRod ได้รับใบอนุญาตนายหน้าประกันวินาศภัยจาก คปภ (คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย) และได้รับการแต่งตั้งจากบริษัทประกันภัย สามารถให้คำปรึกษาและจัดให้มีการทำประกันวินาศภัย ระหว่างท่านกับบริษัทรับประกันภัยได้ นอกจากนี้เรายังร่วมงานกับบริษัทโบรกเกอร์อย่างใกล้ชิด เพื่อให้ลูกค้ามีตัวเลือกหลากหลายในการตัดสินใจ โดยปัจจุบันลูกค้้าสามารถเลือกดูข้อเสนอ และสั่งซื้อกรมธรรม์ ได้จากกว่า 10 บริษัท 


ประกันภัยรถยนต์


11

การคืนทุนประกัน กรณีรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง (Total Loss)     

     ในกรณีที่รถยนต์คันเอาประกันเกิดอุบัติเหตุชนหนัก มีความเสียหายสิ้นเชิง กล่าวคือค่าความเสียหายตั้งแต่ 70% ของราคารถ ณ ขณะนั้นขึ้นไป บริษัทประกันจะชดใช้ค่าสินไหมโดยคืนทุนประกันเต็มจำนวนตามที่ระบุไว้ในกรมธรรม์ และหากในกรมธรรม์มีการระบุชื่อผู้รับประโยชน์เอาไว้ เช่น ให้บริษัทไฟแนนซ์เป็นผู้รับประโยชน์ (ในกรณีที่รถยังผ่อนอยู่) เป็นต้น บริษัทประกันจะจ่ายให้แก่ผู้รับประโยชน์ก่อนตามส่วนได้ส่วนเสีย เมื่อจ่ายสินไหมแล้ว ให้ถือว่าความคุ้มครองสิ้นสุด 

     นอกจากนี้ หากค่าสินไหมที่ชดเชยคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 80% ของมูลค่ารถในขณะนั้น ผู้เอาประกันจะต้องโอนรถยนต์ให้บริษัทด้วย โดยบริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการโอนทั้งหมด 

     คำถามที่อาจมีตามมาคือ หากไม่ต้องการโอนรถให้บริษัทประกัน ต้องการเก็บรถไว้ และขอเงินสินไหมมาซ่อมรถเองได้หรือไม่ คำตอบคือ อาจจะพอเจรจาได้ แต่ทั้งนี้สินไหมที่ได้รับจะไม่ถึง 70% ของราคารถ ณ ขณะนั้น เนื่องจากถ้าถึง 70% ก็จะเข้าเงื่อนไขรถยนต์เสียหายสิ้นเชิง ต้องคืนทุนประกันและโอนรถ ประกันภัยรถยนต์

10

     ผู้รับผลประโยชน์ในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ ระบุไว้สำหรับเป็นผู้รับสินไหมทดแทนกรณีรถสูญหาย หรือเสียหายสิ้นเชิงต้องคืนทุนประกัน (ไม่ได้รับผลประโยชน์อื่นๆ เช่น สินไหมคุ้มครองค่ารักษาพยาบาล สินไหมอุบัติเหตุส่วนบุคคล ) 

     ดังนั้นกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 จะแบ่งผู้รับผลประโยชน์เป็น 2 กรณี
1. บริษัท ไฟแนนซ์ กรณีที่ยังติดภาระ ผ่อนไม่หมด 
2. เว้นว่างไว้ไม่ระบุผู้รับผลประโยชน์ หมายถึงผู้เอาประกันเป็นผู้ัรับผลประโยชน์ และต้องแสดงหลักฐานอีกครั้งว่าเป็นเจ้าของจริง รถปลอดภาระ ตอนรับสินไหม

     เมื่อผ่อนรถกับไฟแนนซ์หมดแล้ว สามารถสลักหลังกรมธรรม์ เพื่อเอาผู้รับผลประโยชน์ออก โดยแสดงเล่มทะเบียนรถที่มีการเปลี่ยนแปลงผู้ถือกรรมสิทธิ์ใหม่ต่อบริษัทรับประกัน ทางบริษัทรับประกันจะออกเอกสารการเปลี่ยนแปลงกรมธรรม์มาให้ผู้เอาประกันเก็บไว้เป็นหลักฐาน 

     กรณีเกิดเหตุรถสูญหายหรือเสียหายต้องคืนทุนประกัน หากผู้รับผลประโยชน์ยังเป็นไฟแนนซ์ ทางบริษัทรับประกันจะจ่ายสินไหมให้ไฟแนนซ์ ทางไฟแนนซ์ก็จะหักภาระหนี้สินที่ค้างอยู่ ส่วนที่เหลือจึงจะคืนแก่ผู้เอาประกัน หากจำนวนเงินไม่พอทางไฟแนนซ์ก็จะเรียกเพิ่มเติมจากผู้ผ่อนต่อไป

ประกันภัยรถยนต์

9

ข้อควรปฏิบัติ กรณีเกิดอุบัติเหตุรถชน ณ ที่เกิดเหตุ

หากเกิดอุบัติเหตุรถชนกับคันอื่น ณ ที่เกิดเหตุ มีข้อควรปฏิบัติดังนี้ 

ตรวจสอบผู้บาดเจ็บ
สิ่งแรกที่ควรทำคือ ตรวจสอบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุหรือไม่ หากมีผู้บาดเจ็บที่ต้องเข้ารับการ   รักษาฉุกเฉิน ให้ติดต่อประสานงานนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลก่อน 

แลกข้อมูลกับคู่กรณี
แลกข้อมูลต่างๆ กับคู่กรณี เช่น บริษัทประกัน, ชื่อ, ที่อยู่, เบอร์โทรศัพท์, ทะเบียนรถ, ยี่ห้อ, รุ่น และ สีรถ เป็นต้น หากคู่กรณีหลบหนี ควรจดข้อมูลรถของคู่กรณีให้ได้มากที่สุดเพื่อแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจและบริษัทประกันภัย 

แจ้งบริษัทประกัน
หากรถของท่านมีประกัน ให้ติดต่อบริษัทประกันเพื่อแจ้งอุบัติเหตุทันที ณ ที่เกิดเหตุ ท่านควรโทรแจ้งบริษัทประกันในทุกกรณี ไม่ว่าจะมีประกันประเภทใด และไม่ว่าจะเป็นฝ่ายผิดหรือถูก ระหว่างรอเจ้าหน้าที่ ท่านไม่ควรตกลงรับผิดชอบหรือตอบรับค่าเสียหายใดๆ กับคู่กรณี จนกว่าจะได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่บริษัทประกัน เนื่องจากบริษัทประกันจะเป็นผู้รับสิทธิ์ในการเรียกร้องค่าเสียหาย หรือรับผิดชอบค่าเสียหายแทนท่าน 

แจ้งตำรวจ
แจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อตรวจสอบและทำเครื่องหมายบริเวณอุบัติเหตุ 

ถ่ายรูปอุบัติเหตุ
หากมีกล้องถ่ายรูป หรือ Smart Phone ติดตัว การถ่ายรูปไว้อาจเป็นหลักฐานช่วยในการเคลมของท่านได้ รูปที่ควรถ่าย เช่น รถของคู่กรณี, ความเสียหาย, ลักษณะการเกิดเหตุ, ทะเบียนรถของคู่กรณี เป็นต้น

ประกันภัยรถยนต์

8

เบอร์เคลม เบอร์แจ้งอุบัติเหตุ ของบริษัทประกันภัยต่างๆ

บริษัทเบอร์เคลม / แจ้งเหตุ
กมลประกันภัย0-2502-2888
กรุงเทพประกันภัย1620 (แจ้งเหตุ 24 ชั่วโมง) หรือ 02-285-8888 กด 3 (แจ้งเคลมทั่วไป)
กรุงไทยพานิชประกันภัย0-2624-1111 กด 1
คุ้มภัย0-2257-8080
เคเอสเค ประกันภัย0-2635-1234, 0-2635-1555
เจ้าพระยาประกันภัย02-648-6666
โตเกียวมารีน ประกันภัย(02) 686-8616
ทิพยประกันภัย02-248-0059 / 02-643-2900
เทเวศ0-2670-4444 กด 1
ไทยพาณิชย์สามัคคี02-640-4500
ไทยไพบูลย์02-246-9635 ต่อ 77
ไทยวิวัฒน์(02) 695-0700
ไทยศรี0-2878-7000
ไทยเศรษฐฯ1352, 0-2630-9055 , 0-2630-9111
นำสินประกันภัย(02) 911-4567, (02) 911-4488
เมืองไทย ประกันภัย1484
วิริยะประกันภัย1557 หรือ 0-2239-1557
สินทรัพย์ประกันภัย02-792-5555
สินมั่นคง1596 หรือ 02-378-7000
อลิอันซ์ ซีพี0-2638-9333
อินทรประกันภัย02-247-9261, 02-247-6583
เอเชียประกันภัย0-2869-3333
เอ็มเอสไอจี02 788 8000
เอราวัณ0-2224-0056
แอล เอ็ม จี1790
ประกันภัยรถยนต์

7

สินไหมกรุณา (Ex-gratia Payment) คืออะไร

     สินไหมกรุณา คือ เงินสินไหมทดแทนที่บริษัทประกันจ่ายให้ด้วยความเห็นอกเห็นใจ ต่อเหตุการณ์ความเสียหายที่ไม่ได้อยู่ในความคุ้มครองของกรมธรรม์ กรณีที่อาจได้รับค่าสินไหมกรุณา เช่น กรณีที่ "ก่ำกึ่ง" ในการตีความ, กรณีช่วยบรรเทาความเดือดร้อนต่อสังคมจากภัยพิบัติใหญ่ เป็นต้น 

     การร้องขอสินไหมกรุณานิยมทำผ่านตัวกลาง เช่น ตัวแทน นายหน้า หรือคปภ. สำหรับการพิจารณาจำนวนเงินเพื่อจ่ายสินไหมกรุณาโดยมากจะพิจารณาจ่ายสูงสุดไม่เกิน 50% ของความเสียหายจริง และในกรณีที่เป็นภัยพิบัติใหญ่มีค่าความเสียหายถึงระดับประกันต่อที่บริษัทประกันได้ทำไว้ การจ่ายสินไหมกรุณาต้องได้รับการอนุมัติจากรีอินชัวเรอร์ด้วย ประกันภัยรถยนต์

6

เอกสาร “ชนแล้วแยก” (Knock for Knock Form) คืออะไร ใช้ได้ในกรณีไหน มีประโยชน์อย่างไร

โครงการ “ชนแล้วแยก” เป็นโครงการสำหรับรถที่ทำประกันชั้น 1 ช่วยประหยัดเวลาผู้เอาประกันในกรณีเกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาจราจร เนื่องจากรถที่เกิดอุบัติเหตุสามารถแลกเอกสารกับคู่กรณี และแยกย้ายกันได้ทันที โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่บริษัทประกันหรือเจ้าหน้าที่ตำรวจมาในที่เกิดเหตุ เงื่อนไขอุบัติเหตุที่สามารถใช้เอกสารชนแล้วแยกได้มีดังนี้
  • รถทั้ง 2 ฝ่ายทำประกันชั้น 1
  • ทั้ง 2 ฝ่ายมีเอกสาร “ชนแล้วแยก” (Knock for Knock Form)
  • รถทั้ง 2 ฝ่ายต้องเป็นรถเก๋ง รถกระบะ หรือรถตู้เท่านั้น
  • ผู้ขับขี่ทั้ง 2 ฝ่าย สามารถตกลงกันได้ ว่าฝ่ายใดเป็นฝ่ายถูก ฝ่ายผิด หรือประมาทร่วมกัน
หากอุบัติเหตุมีลักษณะเป็นไปตามเงื่อนไข สามารถกรอกเอกสาร “ชนแล้วแยก” ของตน, แลกกับคู่กรณี และแยกย้ายออกจากที่เกิดเหตุได้โดยไม่ต้องรอเจ้าหน้าที่บริษัทประกัน จากนั้นจึงนำเอกสารไปติดต่อเคลมกับบริษัทประกันของตนในภายหลัง ประกันภัยรถยนต์

5

นำรถไปใช้ลากจูงเกิดอุบัติเหตุใครรับผิดชอบ     

     รถยนต์ A ทำการลากจูงรถยนต์ B ที่เครื่องยนต์ขัดข้องไม่สามารถขับเคลื่อนได้ โดยใช้เชือก โซ่ หรื่ออื่นๆ ระหว่างที่กำลังลากจูงนั้น เชือกขาดรถยนต์ B ไหลไปชนทรัพย์สินบุคคลภายนอกเสียหาย 

     กรณีเช่นนี้ผู้ขับรถยนต์ A ที่เป็นคันลากจูงเป็นฝ่ายผิด จะต้องเป็นผู้ชดใช้ความเสียหายต่อชีวิต และทรัพย์สินของบุคคลภายนอก
โดย บริษัทรับประกันภัยของรถยนต์ A ไม่ต้องจ่ายสินไหมทดแทนเนื่องจากเป็นข้อยกเว้นของกรมธรรม์ประกันภัยที่ระบุไว้ว่า การประกันภัยนี้ไม่คุ้มครอง การใช้ลากจูงหรือผลักดัน เว้นแต่รถที่ถูกลากจูง หรือถูกผลักดันได้ประกันภัยไว้กับบริษัทด้วย หรือเป็นรถลากจูงโดยสภาพ หรือรถที่มีระบบห้ามล้อเชื่อมโยงถึงกัน 

     ความเสียหายของรถยนต์ B หากทำประกันชั้น 1 บริษัทรับประกันภัยของรถยนต์ B เป็นผู้รับผิดชอบ เนื่องจากรถยนต์ B ถูกลากจูงจึงไม่เข้าข้อยกเว้นตามกรมธรรม์ แต่เนื่องจากรถยนต์ B ไม่ได้เป็นฝ่ายผิดตามกฎหมาย ดังนั้นบริษัทรับประกันภัยของรถยนต์ B สามารถไปเรียกร้องความเสียหายจากผู้ผิดต่อได้คือ ผู้ขับรถยนต์ A

     การลากจูงรถยนต์คันอื่นจึงควรทำด้วยความระมัดระวัง เพราะนอกจากจะไม่ได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์แล้วอาจยังต้องรับผิดชอบความเสียหายทั้งหมดอีกด้วย วิธีที่ดีที่สุดควรใช้รถที่สร้างไว้ลากจูงโดยเฉพาะ ที่มีระบบการยกและมีการทำประกันภัยสำหรับการลากจูง

ประกันภัยรถยนต์

4

 การนำรถส่วนบุคคลไปรับจ้างหรือให้เช่า จะได้รับความคุ้มครองตามกรมธรรม์หรือไม่

     รถได้ทำประกันภัยรถยนต์ชั้น 1 ไว้โดยกรมธรรม์ให้ความคุ้มครองสำหรับการใช้งานส่วนบุคคลไม่ใช้รับจ้างหรือให้เช่า เช่น รถเก๋งส่วนบุคคลป้ายพื้นขาวตัวอักษรดำ หากนำไปใช้รับจ้างหรือให้เช่า เพื่อการพาณิชย์ เช่น วิ่งรับส่งที่สนามบิน เปลี่ยนเป็นป้ายพื้นเขียว ตัวอักษรขาว และไม่ได้แจ้งกับทางบริษัทรับประกันภัยทราบ

     กรณีเช่นนี้หากเกิดเหตุความเสียหายจะได้ความคุ้มครองไม่ครบตามข้อตกลงของประกันภัยชั้น 1
เช่น ได้รับความคุ้มครองความเสียหายต่อทรัพย์สินบุคคลภายนอก โดยมีค่ารับผิดส่วนแรก 2000 บาท
แต่ไม่ได้รับความคุ้มครองความเสียหายต่อตัวรถคันเอาประกัน หากรถเสียหายต้องรับผิดชอบค่าซ่อม
เองทั้งหมด


ประกันภัยรถยนต์

3

ถูกยิงเสียชีวิตในรถ ได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยรถยนต์หรือไม่    

 กรณีถูกยิงบาดเจ็บหรือเสียชีวิตในรถ จะได้รับความคุ้มครองจากประกันภัยรถยนต์หรือไม่ แยกพิจารณาตามประกันภาคบังคับและประกันภาคสมัครใจ คือ 

     กรณีประกันภาคบังคับ หรือ พ.ร.บ. รถยนต์
- ไม่ได้รับความคุ้มครอง เพราะไม่ได้เป็นเหตุบาดเจ็บหรือเสียชีวิตที่เกิดจากการใช้รถ

     กรณีประกันภาคสมัครใจ เช่น ประกันภัยรถยนต์ประเภท 1, 2+, 3+ และชั้น 3
- จะได้รับความคุ้มครองตาม เอกสารแนบท้าย (หากมี) คือ
กรณีเสียชีวิตได้รับความคุ้มครองตาม ร.ย.01 การประกันภัยอุบัติเหตุส่วนบุคคล
กรณีบาดเจ็บได้รับความคุ้มครองตาม ร.ย.02 การประกันภัยค่ารักษาพยาบาล ประกันภัยรถยนต์

2

ประกัน 2 พลัส กับ ประกัน 3 พลัส คุ้มครองอะไรบ้าง ต่างกันอย่างไร และควรทำแบบไหนดี


ประกัน 2 พลัส (ประกัน 2 บวก, 2+) และประกัน 3 พลัส (ประกัน 3 บวก, 3+) มีความคุ้มครองในส่วนที่เหมือนกันดังนี้
  • คุ้มครองความเสียหายต่อบุคคลภายนอก (ผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต)
  • คุ้มครองทรัพย์สินบุคคลภายนอก เช่น รถของคู่กรณี เสาไฟฟ้า
  • คุ้มครองความเสียหายของรถคันเอาประกัน ในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุชนกับยานพาหนะทางบก รวมถึงรถไฟ และรถพ่วง
  • คุ้มครองผู้ขับขี่ และผู้โดยสารในรถคันเอาประกัน กรณีบาดเจ็บ เสียชีวิต
  • มีวงเงินประกันตัวผู้ขับขี่ หากเกิดอุบัติเหตุเป็นคดีอาญา
จุดแตกต่างอย่างเดียว คือ ประกัน 2 พลัสให้ความคุ้มครองกรณีรถหาย และไฟไหม้ด้วย 

ดังนั้น ในการเลือกทำประกันระหว่าง 2 พลัส กับ 3 พลัส ประเด็นที่ควรพิจารณาคือ รถของเรามีความเสี่ยงต่อไฟไหม้ หรือการถูกโจรกรรมมากน้อยเพียงใด เช่น รถติดแก๊ส มีความเสี่ยงต่อการไฟไหม้ ก็ควรเลือกทำประกัน 2 พลัส แต่ถ้าหากรถไม่ได้ติดแก๊ส และมีที่จอดรถในบ้าน หรือที่ๆ มีการดูแลรักษาความปลอดภัยดี ก็อาจพิจารณาทำประกัน 3 พลัสแทนได้ 

ทั้งนี้ราคาประกัน 2 พลัส และ 3 พลัส จากบริษัทเดียวกัน ที่วงเงินความคุ้มครองเท่ากัน ราคาอาจต่างกันประมาณพันกว่าบาท ดังนั้น ถ้าหากมองว่าเงินส่วนต่างนี้เป็นจำนวนไม่มาก อยากซื้อความสบายใจ ได้ความคุ้มครองมากกว่า ก็ทำประกัน 2 พลัสได้เช่นกัน ประกันภัยรถยนต์

1

    เรียกร้องค่าเสียโอกาสกรณีไม่ได้ใช้รถระหว่างซ่อมได้หรือไม่

      กรณีรถยนต์เกิดอุบัติเหตุแล้วเป็นฝ่ายถูกและต้องเสียโอกาสในการใช้รถในช่วงเวลาเอารถเข้าซ่อม สามารถเรียกร้องกับคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดได้ หรือหากคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิดมีประกันภาคสมัครใจ ก็สามารถเรียกร้องให้บริษัทรับประกันภัยของคู่กรณีที่เป็นฝ่ายผิด ให้เป็นผู้ชดเชยค่าเสียโอกาสนี้ได้ ตามหมวดความคุ้มครองบุคคลภายนอกของกรมธรรม์ภาคสมัครใจของคู่กรณีที่ก่อเหตุความเสียหาย

     การเรียกร้องควรทำเป็นหนังสือถึงบริษัทรับประกันภัยของรถคันเอาประกันที่ก่อให้เกิดความเสียหาย โดยเรียกร้องตามความเป็นจริง เช่น ค่าเดินทางโดยแท็กซี่ ในช่วงเวลาที่ต้องรอซ่อมรถ เป็นต้น ประกันภัยรถยนต์